เส้นทางสู่นักการยศาสตร์วิชาชีพระดับภาคี
(Path to Associate Professional Ergonomist, APEX)
นักการยศาสตร์วิชาชีพระดับภาคีจะแบ่งเป็น 3 ด้าน โดยสามารถเลือกขอรับการรับรองเป็นนักการยศาสตร์วิชาชีพระดับภาคีด้านต่าง ๆ ได้แก่
- นักการยศาสตร์วิชาชีพระดับภาคีด้านกายภาพ Associate Professional Ergonomist – Physical (APEP)
- นักการยศาสตร์วิชาชีพระดับภาคีด้านการรู้คิด Associate Professional Ergonomist – Cognitive (APEC)
- นักการยศาสตร์วิชาชีพระดับภาคีด้านมหภาพ Associate Professional Ergonomist – Macro (APEM)
ขั้นตอนการขอรับการรับรองเป็นนักการยศาสตร์วิชาชีพระดับภาคีสามารถแสดงได้ดังรูปที่ 1 โดยผู้ขอรับการรับรองเป็นนักการยศาสตร์วิชาชีพระดับภาคีมีรายละเอียดคุณสมบัติ ดังนี้
- เป็นสมาชิกแบบตลอดชีพของสมาคมการยศาสตร์ไทย
- สำเร็จการศึกษาอย่างน้อยในระดับปริญญาตรี
2.1 หากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยมนุษย์และการยศาสตร์ (Human Factors and Ergonomics, HFE)
(ก) กรณีที่หลักสูตรผ่านการรับรองจาก CBEST ต้องผ่านการเรียนรายวิชาพื้นฐานที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับ HFE รวมอย่างน้อย 45 ชั่วโมง และรายวิชาเฉพาะทาง HFE ในด้านที่ขอรับรองที่มีเนื้อหารวมอย่างน้อย 90 ชั่วโมง (ดูรายละเอียดเนื้อหาความรู้พื้นฐานและความรู้เฉพาะทางในแต่ละด้านในส่วนที่ 6)
(ข) กรณีที่หลักสูตรไม่ผ่านการรับรองจาก CBEST ต้องยื่นหลักฐานเอกสารเนื้อหาการเรียนในรายวิชาและ/หรือการอบรมที่เกี่ยวข้องกับ HFE เพื่อพิจารณาเฉพาะรายบุคคล
2.2 หากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาอื่น ๆ ต้องมีประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวข้องกับ HFE อย่างน้อย 5 ปี และยื่นหลักฐานเอกสารเนื้อหาการเรียนในรายวิชาและ/หรือการอบรมที่เกี่ยวข้องกับ HFE เพื่อพิจารณาเฉพาะรายบุคคล
3. มีเอกสารบทความวิจัยทาง HFE ที่ผ่านการตรวจสอบอย่างน้อย 2 ฉบับ หรือรายงานโครงการเกี่ยวกับ HFE ที่มีการประยุกต์ใช้แล้วได้จริง ในด้านที่สมัครจำนวนอย่างน้อย 2 โครงการ
การได้รับการรับรองเป็นนักการยศาสตร์วิชาชีพระดับภาคีมีอายุการรับรองเป็นเวลา 5 ปี การต่ออายุการขอรับการรับรองเป็นนักการยศาสตร์วิชาชีพระดับภาคี จะพิจารณาจากคะแนนส่วนต่าง ๆ ทั้งหมด 4 ส่วน ผู้ที่จะขอต่ออายุการรับรองสามารถยื่นรายละเอียดหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคะแนนในแต่ละส่วนที่อธิบายไว้ด้านล่าง โดยการต่ออายุจะพิจารณาคะแนนรวมอย่างน้อย 70 คะแนน ระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา และจะต้องเป็นคะแนนที่มาจากส่วนที่ 2 หรือ 3 อย่างน้อย 10 คะแนน สำหรับรายละเอียดค่าคะแนนในแต่ละส่วนมีแนวทางในการพิจารณาดังนี้
ส่วนที่ 1. พิจารณาจากลักษณะงานประจำที่เกี่ยวกับ HFE (เช่น งานในภาคอุตสาหกรรม งานสอน งานให้คำปรึกษา งานคลินิก งานวิจัย เป็นต้น) ดังนี้
1.1 กรณีทำงานเต็มเวลา (full-time) ทางด้าน HFE จะพิจารณาคะแนนสูงสุดที่ 16 คะแนนต่อปี (80 คะแนนต่อ 5 ปี)
1.2 กรณีทำงานบางส่วน (part-time) ทางด้าน HFE จะพิจารณาคะแนนสูงสุดที่ 12 คะแนนต่อปี (60 คะแนนต่อ 5 ปี)
ส่วนที่ 2. พิจารณาจากการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางด้าน HFE (เช่น การเข้าร่วมประชุมวิชาการ การเข้าร่วมกิจกรรมอบรมต่าง ๆ เป็นต้น) จะพิจารณาคะแนนตามระยะเวลาการเข้าร่วมสูงสุดที่ 2 คะแนนต่อวัน
ส่วนที่ 3. พิจารณาจากการเผยแพร่ผลงานวิจัยและงานโครงการทางด้าน HFE (เช่น การตีพิมพ์ผลงานวิจัย หนังสือ ตำรา โครงการประยุกต์ทางด้าน HFE ที่นำไปใช้ได้จริง เป็นต้น) ดังนี้
3.1 ผลงานวิจัยที่อยู่ในวารสารวิชาการที่มีการตรวจสอบ ผู้เขียนชื่อแรก (first author) หรือผู้รับผิดชอบ (corresponding author) 6 คะแนน ผู้เขียนท่านอื่น (co author) 3 คะแนน
3.2 ผลงานวิจัยที่อยู่ในรายงานการประชุมวิชาการ (proceeding) ผู้เขียนชื่อแรก (first author) หรือผู้รับผิดชอบ (corresponding author) 3 คะแนน ผู้เขียนท่านอื่น (co author) 1 คะแนน
3.3 รายงานโครงงานทางด้าน HFE ที่ใช้ได้จริง ผู้ดำเนินการหลัก (principal investigator) 6 คะแนน ผู้ช่วยดำเนินการ (co-investigator) 3 คะแนน
ส่วนที่ 4. งานบริการอื่น ๆ ที่ไม่อยู่ในขอบเขตงานประจำ (เช่น การเป็นวิทยากรอบรม การให้คำปรึกษา การตรวจสอบงานวิจัย การประเมินความเสี่ยง เป็นต้น) 1 วัน (6 ชั่วโมง) พิจารณาคะแนน 2 คะแนน และถ้าน้อยกว่า 1 วัน จะพิจารณา 1 คะแนน
รูปที่ 1 แผนผังขั้นตอนการขอรับการรับรองเป็นนักการยศาสตร์วิชาชีพระดับภาคี